ประวัติ

พ.ศ. 2464 – 2467 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักต์ใต้ ได้ทรงริเริ่มจัดหาทุนสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาล โดยใช้เงินรวมทั้งสิ้น 170,593.58 บาท

พ.ศ. 2468 สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2468 ได้ประทานนามว่า “สงขลาพยาบาล” และทรงประทานเงินบำรุง ปีละ 5,000 บาท ทุกปี จนเสด็จทิวงคต โรงพยาบาลมีคณะกรรมการเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลแบบมูลนิธิ โดยหลวงศัลยเวชพิศาล เป็นนายแพทย์ผู้ปกครองคนแรกของโรงพยาบาล (2468 – 2482)

พ.ศ. 2478 พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาล ได้โอนกิจการของโรงพยาบาลไปเป็นของเทศบาล และเปลี่ยนชื่อเป็น “ โรงพยาบาล (เทศบาล) เมืองสงขลา ”

พ.ศ. 2490 คุณหญิงพูนสุข ป.ปรีชาพานิช บริจาคเงินสร้างตึก “ สำราญสุข ” พร้อมทั้งบริจาคเครื่องเอกซเรย์ และเครื่องฉายแสงอุลตราไวโอเล็ต และอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 170,109 บาท เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ นายสำราญ ปรีชาพานิช สามีผู้วายชนม์

พ.ศ. 2495 นายพ่วง สุวรรณรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ร่วมประชุมกับคณะเทศมนตรีและเทศบาลเมืองสงขลา ให้โอนกิจการโรงพยาบาลไปสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในขณะนั้น นายแพทย์วิทยา ทรัพย์ปรุง รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ

พ.ศ. 2499 – 2500 คุณหลวงประธานราษฎร์นิกร คุณนายสมบูรณ์ ภรรยา พร้อมทั้งบุตร – ธิดา ได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้างตึกผู้ป่วยนอก เป็นเงิน 1,080,000 บาท ให้ชื่อว่า “ ตึกประธานราษฎร์นิกร ” ประกอบด้วยห้องตรวจผู้ป่วยนอก ห้องยา ห้องทันตกรรม ห้องตรวจผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ ห้องธุรการ ห้องการเงิน คลังเลือด ห้องพักแพทย์เวร และห้องผ่าตัดที่ทันสมัย

พ.ศ. 2500 มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญสร้าง “ ตึกพยาบาลสงฆ์ ” และทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันเพ็ญ เดือน 6 ตรงกับวันฉลอง 25 พุทธศตวรรษ กระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2501 ค่าก่อสร้างเป็นเงิน 360,100 บาท

พ.ศ. 2501 – 2502 ดำเนินการสร้าง “ ตึกยุคลฑิฆัมพร ” เป็นตึก 2 ชั้น โดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล เงินบริจาค และเงิน กศส. เป็นเงินทั้งสิ้น 840,000 บาท

พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรม-ราชานุญาติ ให้สร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนกประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าตึกมหิดลอดุลยเดช ซึ่งอยู่ระหว่างตึกสำราญสุข (สร้างใหม่) กับตึกยุคลฑิฆัมพร ทรงพระราชทานเงินเป็นทุนประเดิม 10,000 บาท ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึก และพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2508

พ.ศ. 2509 ได้รับงบประมาณและเงินบริจาคสร้างตึกผู้ป่วย 2 ชั้น เป็นเงิน 950,000 บาท ตึกนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ ตึกศรีสังวาลย์ ” ซึ่งเป็นตึกผู้ป่วย ตา หู คอ จมูก และหออภิบาลผู้ป่วยหนัก

พ.ศ. 2509 – 2519 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่ ได้แก่ “ ตึกวิจัยยาเสพติด ” ซึ่งเป็นตึกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ตึกผ่าตัด อาคารอุบัติเหตุ และคลังยา และได้รับงบประมาณซื้อที่ดินเพิ่มเติม

พ.ศ. 2525 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ ห้องทำงานแพทย์ ห้องฝ่ายการพยาบาล ห้องอาหาร ห้องประชุม ห้องบรรยาย ห้องสมุด ห้องพักนักศึกษาแพทย์ และห้องพยาบาลเวร เป็นตึก 5 ชั้น ได้รับประราชทานนามว่า “ ตึกสิรินธร ” ในปี พ.ศ.2528 โดยเหตุที่ปีนี้เป็นปีที่โรงพยาบาลได้ก่อตั้งดำเนินกิจการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยครบ 60 ปี คณะกรรมการที่ปรึกษาจัดงานครบรอบ 60 ปี และคณะกรรมการดำเนินการ ได้ประชุมร่วมกันกำหนดให้มีงานฉลองครบรองบ 60 ปี พร้อมทั้งพิธีเปิด “ตึกสิรินธร” ในวันที่ 24 กันยายน 2528 ซึ่งตรงกับวันมหิดล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาถวายสักการะและวางพวงมาลาพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก หลังจากนั้นได้ทรงประกอบพิธีเปิดตึก “ สิรินธร” และทอดพระเนตรนิทรรศการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสงขลา

พ.ศ. 2528 นพ.ไพบูลย์ เวชสาร ได้ประสานกับจังหวัดสงขลา และกองทัพภาคที่ 4 เพื่อขอให้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ประมาณ 80 ไร่ ที่ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา บริเวณเชิงสะพานติณสูลานนท์ เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่

พ.ศ. 2536 กระทรวงสาธารณสุขได้งบผูกพัน ประมาณ 477 ล้านบาท เพื่อการสร้างโรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่ จำนวน 508 เตียง โดยได้ทำสัญญาว่าจ้าง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 และเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน เมษายน 2536 กำหนดแล้วเสร็จเดือน ธันวาคม 2538 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,000 วัน


โรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่

เนื่องจากสภาพเดิมของโรงพยาบาลสงขลาที่เก่า มีเนื้อที่เพียง 9 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา เป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่มีเนื้อที่น้อยที่สุดในประเทศไทย ประกอบกับอาคารมีขนาดและจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับความเจริญเติบโตของสังคมตามสัดส่วนของผู้มารับบริการได้ การขยายเนื้อที่เพื่อปรับปรุงหรือสร้างอาคารที่จำเป็นในที่เดิมไม่สามารถกระทำได้ เพราะแต่ละด้านของเนื้อที่ถูกปิดกั้นด้วยถนน 3 ด้าน และวัด 1 ด้าน ผลที่ตามมา คือ ไม่สามารถจัดหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความสัมพันธ์กันตามระบบงานได้ ทำให้ส่วนหนึ่งของการบริการผู้ป่วยไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะสภาพของเนื้อที่และสภาพตัวอาคารเป็นตัวจำกัด และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขเพื่อรองรับสภาพความเจริญของสังคมในอนาคตได้

ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา โรงพยาบาลสงขลา โดย นายแพทย์ไพบูลย์ เวชสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา และคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลสงขลา ได้ประสานกับทางจังหวัดและกองทัพภาคที่ 4 เพื่อขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (บริเวณสะพานติณสูลานนท์) ซึ่งห่างจากโรงพยาบาลสงขลา 10 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 20 กิโลเมตร และในเดือนกันยายน 2528 จังหวัดสงขลาได้อนุญาตจัดสรรที่ดินให้โรงพยาบาลสงขลา เนื้อที่ ประมาณ 80 ไร่ และโรงพยาบาลสงขลาได้รายงานให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรจุโครงการย้ายโรงพยาบาลสงขลา ให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 และประสานกับสำนักงบประมาณ ในด้านการสนับสนุนเงินงบประมาณ ในสมัยที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่ การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เมษายน 2536 กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือน ธันวาคม 2538 และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่ ในวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2536 โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธี และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมในพิธี ได้มีประชาชนในจังหวัดสงขลา ร่วมบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล โดยมอบเงินผ่านทางประธานในพิธี เป็นจำนวนเงิน 25 ล้านบาท

โรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่เลขที่ 666 ถนนสงขลา – ระโนด ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อยู่ในแหล่งซึ่งเป็นที่ตั้งของส่วนราชการหลายแห่ง และเป็นจุดศูนย์กลางซึ่งสามารถติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลาได้โดยสะดวก เพราะการคมนาคมมีเส้นทางรถยนต์ผ่านหน้าโรงพยาบาล และไม่เป็นชุมชนแออัด นับเป็นโรงพยาบาลที่สวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ เพราะการจัดวางตัวอาคารต่างๆ สามารถวางได้อย่างเป็นระเบียบตามความต้องการ เพราะมีเนื้อที่ใช้สอยกว้างขวางพอสมควร จึงเป็นโรงพยาบาลที่ชาวสงขลาภาคภูมิใจ และให้การสนับสนุนเงินบริจาคอยู่เสมอ

โรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่ เริ่มเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยใน ผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และผู้ป่วยเฉพาะทาง ในวันที่ 2 กันยายน 2539 และในวันที่ 1 กันยายน 2540 ได้ย้ายโรงพยาบาลสงขลาไปยังที่แห่งใหม่ สำหรับโรงพยาบาลสงขลาเดิม ยังคงเปิดให้บริการในนาม “ ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองสงขลา ” โดยเปิดให้บริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยเฉพาะทางบางแผนก งานแพทย์แผนไทย และศูนย์วัยวัฒนา และต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์แพทย์ชุนชนเมืองสงขลา “ เป็น “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสงขลา ส่วนตึกสิรินธรที่อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแห่งเดิม ได้เป็นที่ทำการของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุภาคใต้

ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุภาคใต้ สงขลา ตั้งขึ้นโดยเจตนารมณ์ของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ภายใต้การดำเนินงานของโรงพยาบาลสงขลา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2541 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุภาคใต้ สงขลา (ฤกษ์เวลา 09.30 น.) เริ่มให้บริการผู้สูงอายุ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2543 และมีพิธีเปิดศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุภาคใต้ สงขลา อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 โดย ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เป็นประธานในพิธีเปิด ขณะนี้ให้บริการ คลินิกผู้สูงอายุ คลินิกฝังเข็ม และคลินิกประกันสังคม

อัญเชิญพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก

อัญเชิญพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก ในวันที่ 7 กันยายน 2542 ได้มีพิธีอัญเชิญพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก จากโรงพยาบาลสงขลาแห่งเดิม ไปยังโรงพยาบาลสงขลาแห่งใหม่

แพทย์แผนไทย

แพทย์แผนไทย ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 ได้มีพิธีเปิดอาคารแพทย์แผนไทย ตั้งอยู่ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสงขลา ภายใต้การดำเนินงานของโรงพยาบาลสงขลา โดยให้บริการนวดตัว นวดเท้า ประคบสมุนไพร อบไอน้ำสมุนไพร และจำหน่ายลูกประคบ

ศูนย์วัยวัฒนาสงขลา

ศูนย์วัยวัฒนาสงขลา (ศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุกลางวัน) เปิดให้บริการ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ตั้งอยู่ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสงขลา ภายใต้การดำเนินงานของโรงพยาบาลสงขลา โดยรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป และให้บริการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง